การเมืองและจริยธรรมของการคืนวัตถุทางวัฒนธรรมสู่ประเทศหรือชุมชนเจ้าของ (restitution) เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง แต่ความซับซ้อนในทางปฏิบัติของการคืนวัตถุและการผสานกลับคืนสู่สังคมต้นกำเนิด (reintegration) อย่างมีประสิทธิผลกลับได้รับความสนใจน้อยกว่ามาก ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น กัมพูชา ไทย และอินโดนีเซีย ได้มีการรับคืนโบราณวัตถุ โดยส่วนใหญ่การคืนวัตถุเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจสูงและมีการเฉลิมฉลองในระดับชาติ อย่างไรก็ตาม "ความพร้อมของสถาบันหรือองค์กร" อันหมายถึงโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างทางกายภาพที่เหมาะสมสำหรับการผสานวัตถุกลับคืนสู่เจ้าของวัฒนธรรมอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศเหล่านี้และประเทศอื่น ๆ มีความแตกต่างกันอย่างมาก
วัตถุจำนวนมากที่ได้รับคืนมีความสำคัญทั้งในเชิงจิตวิญญาณและประวัติศาสตร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าสถานที่และวิธีการจัดแสดงอาจมีความแตกต่างอย่างมากจากพิพิธภัณฑ์ผู้ส่งคืนวัตถุ นอกจากนี้ ยังมีมิติที่หลากหลายในการนำเสนอเรื่องราวของวัตถุเหล่านั้น วัตถุมักนำมาซึ่งความท้าทายที่ซับซ้อนในด้านการอนุรักษ์และการวิจัยแหล่งที่มา ประเด็นเรื่องธรรมาภิบาล การบริหารจัดการ ความปลอดภัย การจัดสรรบุคลากรที่เพียงพอ ความยั่งยืนทางการเงิน และในบางประเทศมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อกระบวนการดังกล่าว
การนำเสนอนี้จะอภิปรายถึงวิธีการที่ประเทศและสถาบันต่าง ๆ กำลังเผชิญกับประเด็นเหล่านี้และผสานมรดกทางวัฒนธรรมกลับคืนในรูปแบบที่สร้างสรรค์และมีนัยสำคัญ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจและให้ความรู้แก่ชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ก่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ และนำไปสู่นวัตกรรมด้านพิพิธภัณฑ์ในที่สุดนอกจากนี้ เราจะพิจารณาถึงความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องของชุมชนพิพิธภัณฑ์ในโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันที่ส่งคืนวัตถุ ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ฝ่ายที่ส่งคืนวัตถุควรมีความรับผิดชอบทางการเงินอย่างต่อเนื่องสำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ควรมีบทบาทในการชดเชยหรือเยียวยาสำหรับการกระทำในอดีตหรือไม่